วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

แสงสีในคืน "ยี่เป็ง"











ยี่ หมายถึง เดือน 12
เป็ง หมายถึง พระจันทร์เต็มดวง
ประเพณีเดือนยี่เป็ง เกิดขึ้นในเดือนยี่ของชาวไทยล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนขึ้น15 ค่ำ โดยก่อนจะถึงวันยี่เป็ง 2-3 วัน ชาวไทยล้านนาจะจัดทำความสะอาดบ้าน วัดวาอาราม ถนน เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองประเพณียี่เป็ง หลังจากนั้นก็จะนำก้านมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกไม้มาช่วยกันทำซุ้มประตูหน้าบ้าน และประตูวัด เรียกว่า “ประตูป่า” โดยมีความเชื่อว่าพระเวสสันดรจะเข้ามาในวัด และบ้านของตนเพื่อความเป็นสิริมงคลและชาวล้านนา โดยแต่ละบ้านก็จะมีการจัดทำประตูป่า เพื่อตกแต่งบ้านเรือนของตนเองให้ดูสวยงาม ประตูป่า ในล้านนามี 2 ความหมาย ความหมายแรก หมายถึง ปากทางที่จะเข้าสู่ป่า ซึ่งมักจะปรากฏอยู่เป็นเสา ตั้งอยู่ที่ชายหมู่บ้าน ขนาบทางเดินที่จะเข้าป่า ซึ่งมักจะเป็นส่วนประดับอยู่ระหว่างเสาทั้งคู่ ใช้เป็นบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับหมู่บ้าน และยังหมายถึงบริเวณพิธีที่ประกอบพิธีกรรมในการยกทัพอีกด้วย
ส่วนความหมายที่สอง หมายถึง บริเวณทางเข้าที่ล้อมด้วยรั้วราชวัตร ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามที่ใช้ประกอบพิธี หรือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในช่องทางนี้มักประดับไปด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และใช้ทางมะพร้าวผ่าออกเป็น 2 ส่วน เพื่อประดับที่เสาประตูด้านละส่วน แล้วโน้มปลายมาผูกติดกันเพื่อแสดงช่องทางเข้าสู่สถานที่นั้น และการประดับประดาด้วยดอกไม้ เช่นดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก และประดับด้วยโคมไฟ การประดับประตูป่าเช่นนี้จะจัดทำขึ้นที่ประตูบ้านในเทศกาลยี่เป็ง หรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทงในภาคกลางนั่นเอง
ครั้นเมื่อถึงตอนเช้าวันยี่เป็ง ก็จะมีการทำบุญด้วยการนำข้าวปลามาถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า “ตานขันข้าว”
นอกจากนั้นศรัทธาประชาชนตามวัดต่าง ๆ จะได้จัดเทศน์มหาชาติโดยกัณฑ์ที่นิยมเทศน์ในช่วงเดือนยี่นี้คือเวสสันดรชาดก” มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ เทศน์ทั้งวันทั้งคืน
พอพลบค่ำก็จะนำกระถางเทียนหรือขี้ผึ้งเรียกว่า “ผางประทีป” จุดเรียงไว้ตามหน้าบ้านหรือตามรั้วเท่ากับอายุของคนในบ้าน พร้อมกับประดับโคมรูปลักษณ์ต่างๆ อาทิ โคมแขวน โคมกระต่าย โคมหมุน
การจุดโคมลอยก็เป็น กิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่นิยมเล่นกันในงานประเพณีเดือนยี่เป็ง โดยโคมลอยที่ปล่อยในตอนกลางวันทำด้วยกระดาษสีและมักจะนำเงิน สิ่งของ เพื่อเป็นรางวัลกับผู้ที่เก็บโคมนั้นได้ เรียกว่า “ว่าว” ส่วน “โคมไฟ” จะจุดในตอนกลางคืน ตามตำนานกล่าวว่าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี
สะเปา บรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง ลอยไปตามแม่น้ำ ไม่ก็เตรียมเป็นกระทงลอยเพื่อขอขมาและบูชาแม่พระคงคา และยามค่ำคืนก็จัดเตรียม “สะเปา” บรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง ลอยไปตามแม่น้ำ ไม่ก็เตรียมเป็นกระทงลอยเพื่อขอขมาและบูชาแม่พระคงคา
สำหรับปีนี้ประเพณีเดือนยี่เป็ง ของชาวล้านนา ยังคงความงดงามตามลำนำกวีแห่งสายน้ำ “ล่องแม่ปิง” ที่ขับขานบรรเลง คู่กับแสงสียามค่ำในคืนแห่งวิถีประเพณี “ยี่เป็ง” ของชาวล้านนา