วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

แสงสีในคืน "ยี่เป็ง"











ยี่ หมายถึง เดือน 12
เป็ง หมายถึง พระจันทร์เต็มดวง
ประเพณีเดือนยี่เป็ง เกิดขึ้นในเดือนยี่ของชาวไทยล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนขึ้น15 ค่ำ โดยก่อนจะถึงวันยี่เป็ง 2-3 วัน ชาวไทยล้านนาจะจัดทำความสะอาดบ้าน วัดวาอาราม ถนน เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองประเพณียี่เป็ง หลังจากนั้นก็จะนำก้านมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกไม้มาช่วยกันทำซุ้มประตูหน้าบ้าน และประตูวัด เรียกว่า “ประตูป่า” โดยมีความเชื่อว่าพระเวสสันดรจะเข้ามาในวัด และบ้านของตนเพื่อความเป็นสิริมงคลและชาวล้านนา โดยแต่ละบ้านก็จะมีการจัดทำประตูป่า เพื่อตกแต่งบ้านเรือนของตนเองให้ดูสวยงาม ประตูป่า ในล้านนามี 2 ความหมาย ความหมายแรก หมายถึง ปากทางที่จะเข้าสู่ป่า ซึ่งมักจะปรากฏอยู่เป็นเสา ตั้งอยู่ที่ชายหมู่บ้าน ขนาบทางเดินที่จะเข้าป่า ซึ่งมักจะเป็นส่วนประดับอยู่ระหว่างเสาทั้งคู่ ใช้เป็นบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับหมู่บ้าน และยังหมายถึงบริเวณพิธีที่ประกอบพิธีกรรมในการยกทัพอีกด้วย
ส่วนความหมายที่สอง หมายถึง บริเวณทางเข้าที่ล้อมด้วยรั้วราชวัตร ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามที่ใช้ประกอบพิธี หรือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในช่องทางนี้มักประดับไปด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และใช้ทางมะพร้าวผ่าออกเป็น 2 ส่วน เพื่อประดับที่เสาประตูด้านละส่วน แล้วโน้มปลายมาผูกติดกันเพื่อแสดงช่องทางเข้าสู่สถานที่นั้น และการประดับประดาด้วยดอกไม้ เช่นดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก และประดับด้วยโคมไฟ การประดับประตูป่าเช่นนี้จะจัดทำขึ้นที่ประตูบ้านในเทศกาลยี่เป็ง หรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทงในภาคกลางนั่นเอง
ครั้นเมื่อถึงตอนเช้าวันยี่เป็ง ก็จะมีการทำบุญด้วยการนำข้าวปลามาถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า “ตานขันข้าว”
นอกจากนั้นศรัทธาประชาชนตามวัดต่าง ๆ จะได้จัดเทศน์มหาชาติโดยกัณฑ์ที่นิยมเทศน์ในช่วงเดือนยี่นี้คือเวสสันดรชาดก” มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ เทศน์ทั้งวันทั้งคืน
พอพลบค่ำก็จะนำกระถางเทียนหรือขี้ผึ้งเรียกว่า “ผางประทีป” จุดเรียงไว้ตามหน้าบ้านหรือตามรั้วเท่ากับอายุของคนในบ้าน พร้อมกับประดับโคมรูปลักษณ์ต่างๆ อาทิ โคมแขวน โคมกระต่าย โคมหมุน
การจุดโคมลอยก็เป็น กิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่นิยมเล่นกันในงานประเพณีเดือนยี่เป็ง โดยโคมลอยที่ปล่อยในตอนกลางวันทำด้วยกระดาษสีและมักจะนำเงิน สิ่งของ เพื่อเป็นรางวัลกับผู้ที่เก็บโคมนั้นได้ เรียกว่า “ว่าว” ส่วน “โคมไฟ” จะจุดในตอนกลางคืน ตามตำนานกล่าวว่าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี
สะเปา บรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง ลอยไปตามแม่น้ำ ไม่ก็เตรียมเป็นกระทงลอยเพื่อขอขมาและบูชาแม่พระคงคา และยามค่ำคืนก็จัดเตรียม “สะเปา” บรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง ลอยไปตามแม่น้ำ ไม่ก็เตรียมเป็นกระทงลอยเพื่อขอขมาและบูชาแม่พระคงคา
สำหรับปีนี้ประเพณีเดือนยี่เป็ง ของชาวล้านนา ยังคงความงดงามตามลำนำกวีแห่งสายน้ำ “ล่องแม่ปิง” ที่ขับขานบรรเลง คู่กับแสงสียามค่ำในคืนแห่งวิถีประเพณี “ยี่เป็ง” ของชาวล้านนา

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สวนบวกหาด...ธรรมชาติกลางเมืองเชียงใหม่




สวนงามนามบวกหาด ดารดาษดอกไม้มี
บานชื่นรื่นรมย์สี กลางแสงใสไม้น่าชม....
มุมนี้มีกล้วยไม้ สะพานใหญ่ไว้ข้ามสระ
ใสเย็นเห็นปลานะ แถมมีนกอกอิ่มเพลิน
นกจ๋ารอท่าใคร แม่นกไงให้ใจเขิน
มะมาพากันเดิน ดูไม้ดอกออกชื่นใจ
เพลิดเพลินเชิญชมสวน ดอกไม้ล้วนหลากหลายพันธุ์
ชื่นชมทุกชนชั้น มาแบ่งบันวันเบิกบาน......
บทกลอนบรรยายถึงความรื่มรมย์ที่ได้มาชมธรรมชาติที่สวนบวกหาด สวนสาธารณะของชาวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่กลางเมือง ท่ามกลางความเร่งรีบของสังคมเมือง ที่ชาวเชียงใหม่มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มุมเล็ก ๆ ที่สวนบวกหาดแห่งนี้ก็เป็นเสมือนที่พักพิงของผู้คนไม่น้อย ทุกเพศทุกวัยที่ปรารถนา จะใช้เวลาในวันหยุดเพื่อการพักผ่อนให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะมาเพื่อวิ่งออกกำลังกาย หรือรำมวยจีน เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ในยามเช้า มาวาดรูป ถ่ายรูป ปิกนิกกับครอบครัว มีทั้งร้านขายอาหาร ขนม และผลไม้ที่หลากหลายในทุกฤดูกาล เป็นต้นว่าฤดูที่ลิ้นจี่ - ลำไยก็จะมีเกษตรกรชาวสวนนำพืชผลมาจำหน่ายในราคาถูก ทั้งสดทั้งแถม หรือแม้แต่ผลไม้ที่ขึ้นชื่อของทางใต้อย่างลองกอง มังคุด เงาะ ที่นี่ก็มีจำหน่ายมากมาย
ก่อนหน้านี้นอกจากสวนบวกหาดจะเป็นสวนสาธารณะ ที่นี้เป็นแหล่งรวมสถานที่จำหน่ายพันธุ์ไม้ ทั้งไม้ดอกไม่ประดับเช่นเดียวกับกาดคำเที่ยงในปัจจุบัน ต่อมาร้านค้าเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ประกอบกับสวนบวกหาดได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญในระดับประเทศอย่างเช่น งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับที่ขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทศบาลนครเชียงใหม่เข้ามาดูแล ร้านค้าต่าง ๆ จึงขยายและกระจายตัวออกไปอยู่บริเวณ ต.หายยา ที่อยู่ไม่ไกลกันนี้ ยังคงหลงเหลือร้านขายอุปกรณ์การเกษตร และร้านขายอาหารสัตว์ ร้ายขายปลา เพียงไม่กี่ร้านที่อยู่รายรอบสวนบวกหาด
ด้วยเสน่ห์ที่สวนบวกหาดยังคงความงดงามของพันธุ์ไม้ และสระน้ำขนาดใหญ่ ที่มีนกพิราบมากมายมาอยู่อาศัย ทำให้สวนแห่งนี้ยังคงความเป็นธรรมชาติ เป็นสวนแห่งเดียวในเมืองเชียงใหม่ ที่ยังคงเป็นที่นิยม และมีผู้มาเยือนอยู่ไม่ขาด สวนบวกหาดจึงให้เป็นสถานที่ในการจัดงานสำคัญอีกงาน นั่นคือ งานลานนาพฤกษชาติ 12 สิงหามหาราชินี ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม โดยจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ สมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระราชินูปถัมภ์ กลุ่มเกษตรทำสวนป่าตัน ชมรมบอนไซเชียงใหม่ได้ร่วมกันจัดงานลานนาพฤกษาชาติ 12 สิงหามหาราชินี ในปี 2552 นี้นับเป็นครั้งที่ 28 ในวันที่ 10-12 สิงหาคม 2552 เพื่อเผยแพร่กล้วยไม้ไทย ไม้ดอกไม้ประดับให้เป็นที่รู้จัก ส่งเสริมการจำหน่ายการค้ากล้วยไม้ของไทยให้แพร่หลาย และกระตุ้นการขยายการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้กับประชาชนเป็นการส่งเสริมอาชีพการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ ในงานมีการประกวดจัดสวนกล้วยไม้ การประกวดกล้วยไม้ ประกวดไม้ดอก – ไม้ประดับ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ การแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การจำหน่ายผลิตผลของเกษตรกร ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าราคาถูก มหกรรมอาหาร นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ในวันดังกล่าว อย่าพลาดที่จะมาเที่ยวชมสัมผัสธรรมชาติกลางเมือง ณ สวนบวกหาดแห่งนี้